อนาคตสิทธิมนุษยชนในอาเซียนยังมืดมน
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายนูร์ ฮัสซัน วิราจูดา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย เพิ่งออกมาให้ความเห็นว่า เขารู้สึกผิดหวังมากที่อินโดนีเซียไม่เป็นผู้นำในการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในอาเซียนเหมือนเมื่อก่อน ทั้งที่เมื่อปี 2552 อินโดนีเซียเป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่กลับไม่สามารถผลักดันให้ประเทศสมาชิกนำหลักการของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือ AICHR มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่มีประเทศไหนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในวาระแห่งชาติเลย
นอกจากนี้ เขายังมองว่า อนาคตด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเลือนราง เพราะกรอบการทำงานของ AICHR ยังต่ำกว่ามาตรฐานสากล หรือแม้แต่ในเอเชียด้วยกันเองอย่างมาก โดยนายฮัสซันอธิบายว่า กรอบการทำงานของ AICHR ที่ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้หลายประเทศสมาชิกอาเซียนไม่สนใจที่เปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบเต็มใบ
ยกตัวอย่างเช่นเมียนมาร์ ที่ทหารยังคงกุมอำนาจเกือบทั้งหมด สื่อต่างๆส่วนใหญ่เป็นของกองทัพ ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร การแสดงออกทางการเมืองก็ยังคงถูกกดขี่อยู่ แม้ช่วงหลังมานี้ จะเปิดประเทศให้เป็นสังคมประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยการมีประธานาธิบดีที่เป็นพลเรือน แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ เมียนมาร์ "ส่งออก" รัฐบาลทหารมาให้ประเทศไทย ที่เข้ามา"คืนความสุข" ให้กับคนไทย โดยการยึดอำนาจ ปิดกั้นข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยก และมีการเชิญผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองไปปรับทัศนคติให้ตรงกัน นักโทษการเมืองก็ยังไม่สามารถประกันตัวออกมาได้
อย่างไรก็ตาม การละเมิดสิทธิในการแสดงออกของประชาชนไม่ได้มีแค่ในไทยและเมียนมาร์เท่านั้น จริงๆแล้ว มีปัญหานี้อยู่ในทุกๆประเทศ แม้แต่อินโดนีเซียเองที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักปัญจศีล ที่ซูการ์โน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนแรกประกาศเอาไว้ โดยรัฐบาลจะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อเห็นว่าอะไรขัดต่อความสงบสุขของบ้านเมืองและขัดต่อหลักปรัชญาที่อินโดนีเซียยึดถือ ซึ่งก็จะเป็นเหตุผลที่คล้ายๆกันกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ
นอกเหนือจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแง่การเมืองแล้ว เสรีภาพในการนับถือศาสนาก็เป็นปัญหาเรื้อรังของหลายประเทศ ทั้งเมียนมาร์ที่มีการปะทะกันระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมอยู่บ่อยครั้ง และในอินโดนีเซียที่ศาสนาอิสลามค่อนข้างเข้มแข็ง จนทำให้มีการขัดขวางการสร้างศาสนสถานของศาสนาอื่นๆ ขณะที่รัฐบาลสังคมนิยมของเวียดนามก็พุ่งเป้าโจมตีโบสถ์คริสต์ วัดพุทธและมัสยิดของอิสลามอยู่บ่อยครั้ง
อีกปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครสนใจก็คือ สิทธิของแรงงานต่างด้าวในประเทศต่างๆที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่ถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานพม่าและกัมพูชาในไทย หรือแรงงานฟิลิปปินส์และจีนในสิงคโปร์ และเมื่อเกิดการละเมิด แรงงานต่างด้าวก็มักจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจในการติดตามดำเนินคดีมากนัก อีกทั้งยังมีอคติในกระบวนการยุติธรรม เมื่อแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้ต้องสงสัยอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เหตุผลที่ประเทศอาเซียนไม่สามารถผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ ก็เพราะสมาชิกอาเซียนไม่ได้ตั้งวาระด้านสิทธิมนุษยชนไว้เป็นเป้าหมายร่วมกันตั้งแต่เริ่มตั้งประชาคมอาเซียน และไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่า ควรแก้ไขประเด็นใดก่อน ต่างจากคณะมนตรีแห่งยุโรปที่มีการตั้งวาระด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่รวมกลุ่มสหภาพยุโรป
ขอขอบคุณที่มา : http://news.voicetv.co.th/

-
-
งาน วันเด็กทั่วโลกเกิดขึ้นมาแล้วเกือบ 60 ปี (พ.ศ.2498) ซึ่งหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับเด็กวางรากฐานทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการศึกษาที่หลายประเทศอาเซียนได้กำหนดทิศทางประเทศไว้แล้ว โดย...by Editor Bow
-
เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com เนื้อหาอ้างอิงจาก สำนักงานสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง...by Editor Bow
-
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ณ กระทรวงแรงงาน ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบแผนดำเนินงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ธันวาคม 2560 รวม 6...by dogTech